.png)
“รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเข้าแทรกแทรงนโยบายการเงิน ออกจากดอกเบี้ยติดลบ”
💚สวัสดี วันอังคาร ที่ 12 กันยายน 2566 “รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเข้าแทรกแทรงนโยบายการเงิน ออกจากดอกเบี้ยติดลบ” 💚
📈 USD ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ของในวันพุธนี้ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค.ในวันพฤหัสบดี โดยการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่เฟดจะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19-20 ก.ย.
📉THB แนวโน้มของค่าเงินบาท ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งผลให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้งแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เรายังไม่เห็นสัญญาณการกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยอย่างที่เราเคยคาดหวังไว้ ว่านักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมและคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลง นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้งข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ และดัชนี ZEW ของเยอรมนี ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้ เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษและเงินยูโร
💶 EUR ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.14% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ยังคงส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มเหมืองแร่ต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง (LVMH -1.0%, Rio Tinto -2.6%) นอกจากนี้ แรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor (ASML -3.8%) จากความกังวลการห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางจีนใช้ “IPhone” และอุปกรณ์สื่อสารจากต่างประเทศ
🌏 JPY ทาเคชิ อิชิดะ นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราจากเรโซนา แบงก์กล่าวว่า "การแสดงความเห็นของผู้ว่าการ BOJ สะท้อนให้เห็นว่าเขาเริ่มมีมุมมองแบบสายเหยี่ยว (hawkish) และอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567
💹 ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.2% ในเดือนก.ค. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนก.ค.
📈📉มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.70 บาท/ดอลลาร์