Image

“ดอลลาร์อ่อนค่าลง ตลาดเริ่มเปิดรับความเสี่ยง S&P500 ปิดบวก”

💚สวัสดีวันจันทร์ ที่ 31 ตุลาคม “ดอลลาร์อ่อนค่าลง ตลาดเริ่มเปิดรับความเสี่ยง S&P500 ปิดบวก” 💚

📈 USD ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยส่วนใหญ่นั้นออกมาดีกว่าคาด และอาจทำให้ผลกำไรในไตรมาสที่ 3 ยังขยายตัวต่อได้ สวนทางกับที่ผู้เล่นในตลาดได้คาดการณ์ว่า ผลกำไรอาจหดตัวลงในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.20%

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CB Consumer Confidence) และรายงานดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (Employment Cost Index) ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากค่าจ้างได้

🇪🇺 EUR ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้น +0.36% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare (Sanofi +3.3%, Novo Nordisk +2.7%) ซึ่งเผชิญแรงเทขายหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น

📉THB ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ซึ่งเผชิญแรงขายทำกำไร หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินเยนญี่ปุ่นสู่ระดับ 149.15 เยนต่อดอลลาร์ จากการเก็งกำไรของผู้เล่นในตลาดช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ ในวันอังคารนี้ ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์เช่นกัน นอกจากนี้ เงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ รวมถึง การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุม BOJ ทำให้ เรามองว่า ตลาดค่าเงินอาจผันผวนสูงได้ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ โดยเฉพาะในกรณีที่ BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังและได้สะท้อนในการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนล่าสุด ซึ่งจะทำให้ เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกจากนี้ เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น อาจถูกชะลอลงด้วยโฟลว์ขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB

💹 ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด รวมถึงความคาดหวังว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจออกมาสดใส จะยังหนุนแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.90% อีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสม เนื่องจาก Risk-Reward มีความน่าสนใจ

📈📉มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาท/ดอลลาร์